; โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) -โรงพยาบาลแมคคอร์มิค เชียงใหม่ McCormick Hospital ChiangMai

โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)

       

เกิดจากมีการขัดขวางการไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงสมอง ทำให้เนื้อเยื่อสมองได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ เกิดการตายของเนื้อสมองทำให้สมองเสียหน้าที่ แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

        1. โรคหลอดเลือดสมองจากการขาดเลือด (Ischemic stroke) เช่น ตีบ อุดตัน
        2. โรคหลอดเลือดสมองจากเลือดออกในสมอง (Hemorrhagic stroke) เป็นสาเหตุการตายที่สำคัญ ถ้าหากได้รับการรักษาไม่ทันส่วนใหญ่จะมีการพิการ

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของโรค

        สาเหตุ : ไม่ทราบที่แน่ชัด แต่มักพบในผู้ที่มีอายุมากขึ้น ในเพศชายมากกว่าเพศหญิง กรรมพันธุ์ เชื้อชาติ คนผิวดำเป็นมากกว่าคนผิวขาว ประวัติการเจ็บในอดีต ผู้ที่มีประวัติอัมพาต-อัมพฤกษ์ชั่วคราว

ปัจจัยเสี่ยงของโรค

        - ความดันโลหิตสูง เบาหวาน
        - ไขมันในเลือดสูง ความอ้วน
        - โรคหัวใจ
        - การสูบบุหรี่ ดื่มสุรา สารเสพติด และการขาดการออกกำลังกาย

อาการและอาการแสดง

        1. แขนขาชา อ่อนแรง หรือชาครึ่งซีกข้างใดข้างหนึ่ง
        2. ตามัว มองเห็นภาพซ้อน หรือมองไม่เห็นข้างใดข้างหนึ่ง
        3. การพูดผิดปกติ เช่น พูดตะกุกตะกัก หรือพูดไม่ได้ หรือพูดไม่ชัด หรือไม่เข้าใจคำพูด
        4. มีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง ทันที โดยไม่มีสาเหตุชัดเจน
        5. เวียนศีรษะ มีอาการมึนงง บ้านหมุน หรือเดินเซ เสียการทรงตัว ล้มง่าย

การรักษา

        ขึ้นอยู่กับชนิดความรุนแรงและระยะเวลาที่ผู้ป่วยมีอาการ โดยเฉพาะถ้าผู้ป่วยมารับการรักษาเร็วเท่าใด ความพิการ อัตราการตาย ก็มีโอกาสจะลดลงมากเท่านั้น

หลักการรักษาประกอบด้วย

        1. การรักษาทางยา  สำหรับผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองขาดเลือด ซึ่งแพทย์จะให้ยาในกลุ่มยาละลายลิ่มเลือด ยาต้านเกร็ดเลือด และยาต้านการแข็งตัวของเลือด โดยทั่วไปผู้ป่วยจะต้องรับประทานยาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานเพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำ และจะต้องมาตรวจอย่างสม่ำเสมอเพื่อปรับขนาดของยาตามแผนการรักษา

        2. การรักษาโดยการผ่าตัด  ในบางรายโดยเฉพาะผู้ที่เป็นหลอดเลือดสมองจากการมีเลือดออกในสมอง หรือผู้ป่วยที่มีสมองขาดเลือดบริเวณกว้าง

        3. การรักษาทางเวชศาสตร์ฟื้นฟู

        4. การรักษาโดยการควบคุมปัจจัยเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อน


การป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง

        เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ โดยการลดปัจจัยเสี่ยงดังนี้
        - ตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยง เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ถ้าพบปัจจัยเสี่ยงต้องรักษา และพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ
        - งดสูบบุหรี่ พบว่าการเลิกสูบบุหรี่สามารถลดโอกาสเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้ครึ่งหนึ่ง
        - ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสมอย่าให้อ้วน
        - งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
        - ผ่อนคลายความเครียดและพักผ่อนให้เพียงพอ
        - ในกรณีที่มีปัจจัยเสี่ยงอยู่แล้วต้องรักษาและพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ ห้ามหยุดยาหรือปรับยาเองโดยเด็ดขาด
        - ผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น กลุ่มที่มีปัญหาโรคหัวใจหรือโรคหลอดเลือด ควรพบแพทย์รักษาอย่างสม่ำเสมอเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง
        - ในกรณีที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบ อุดตันอยู่แล้ว แพทย์จะรักษาโดยให้รับประทานยาเพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำ เช่น ยาต้านการแข็งตัวของเกร็ดเลือด ต้องรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง
        - ถ้ามีอาการที่สงสัยว่าอาจเกิดโรคหลอดเลือดสมองดังกล่าวข้างต้น ให้รีบไปพบแพทย์ทันที